อ่านสั้นๆ
- ประโยชน์ที่เจ้าของธุรกิจจะได้รับจากประกันสังคม หนึ่งในนั้นคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ เมื่อพนักงานกำลังตัดสินใจเลือกเข้าทำงาน
- หากธุรกิจเรามีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียน 2 ชุดคือ 1. ขึ้นทะเบียนนายจ้าง ซึ่งปัจจุบัน ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยอัตโนมัติพร้อมการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลต่อกรมธุรกิจการค้า 2. ขึ้นทะเบียนลูกจ้างสำหรับจ่ายกองทุนประกันสังคมในครั้งแรก
- เมื่อมีพนักงานใหม่เข้าทำงานในบริษัท ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมภายใน 30 วัน
- ในแต่ละเดือนต้องนำส่งเงินประกันสังคมที่หักจากเงินเดือนพนักงาน พร้อมทั้งจ่ายสมทบเพิ่มให้กับพนักงาน และยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ต่อจากบทความ สิทธิประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานควรรู้และต้องได้รับ! ที่คนวัยทำงานควรจะต้องทราบกันไปแล้ว สำหรับบทความนี้จะมาพูดถึงในฝั่งของเจ้าของธุรกิจ ว่าควรจะต้องรู้อะไรเกี่ยวกับประกันสังคมกันบ้างค่ะ
ประกันสังคม ทำไมเจ้าของธุรกิจต้องทำให้พนักงาน
สิทธิประกันสังคมเป็นสิทธิประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าของธุรกิจและพนักงาน โดยเงินที่เจ้าของธุรกิจจ่ายสมทบให้กับพนักงานในแต่ละเดือนถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่พนักงานจะได้รับเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันในการใช้ชีวิตตลอดช่วงทำงาน จนไปถึงเกษียณอายุ
ซึ่งประโยชน์ที่พนักงานได้รับมีถึง 8 เรื่องด้วยกัน คือ
- ค่าหมอ ค่ายา ค่าทำฟัน ยามเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ
- ค่าเงินชดเชย กรณีทุพพลภาพ
- ค่าคลอดบุตร
- ค่านมลูก (เงินสงเคราะห์บุตร)
- ค่าใช้จ่ายยามตกงาน
- ค่าจัดงานกรณีเสียชีวิต
- ค่าใช้จ่ายยามเกษียณ
และยังส่งผลดีต่อเจ้าของธุรกิจและภาพลักษณ์ของธุรกิจด้วยคือ
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านความรับผิดชอบต่อชีวิตพนักงานของธุรกิจ ซึ่งพนักงานมองว่าเป็นหลักประกันชีวิตขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ
- เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ สำหรับการตัดสินใจเลือกเข้าทำงานของพนักงาน
- รักษาพนักงานให้อยู่ทำงานด้วยกันต่อไปในระยะยาว เพราะมั่นใจได้ว่าธุรกิจตั้งใจจะดูแลคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
นั่นก็หมายความว่า เมื่อพนักงานของธุรกิจมีความสุข และมีความมั่นคง ก็ทำให้ธุรกิจดำเนินอย่างมั่นคง ส่งผลต่อลูกค้า และคู่ค้าในเชิงบวกด้วยเช่นกัน
หากยังคิดภาพไม่ออก ลองนึกภาพว่า เรากำลังสร้างครอบครัวที่แข็งแรงและมีความสุข เราก็จะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับครอบครัว
องค์กรในรูปแบบบริษัทก็เช่นกัน หากอยากสร้างองค์กรให้แข็งแรง การมีสวัสดิการที่ดีย่อมช่วยสร้างความมั่นคงให้กับพนักงาน และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พนักงานตัดสินใจมาทำงานร่วมกับบริษัทเรา
และหากให้พูดตามหลักของกฎหมาย เมื่อกิจการเริ่มมีการจ้างพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างจะต้องเป็นผู้จัดทำประกันสังคมให้กับพนักงานทุกคน เพื่อให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ช่วยเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิต
เจ้าของธุรกิจ ต้องทำอย่างไรเมื่อเริ่มมีพนักงานคนแรก
1. ขั้นตอนแรก เจ้าของธุรกิจต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วัน นับจากวันที่เริ่มรับพนักงาน
อัพเดต! จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เมื่อเจ้าของธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (Department of Business Development) แล้ว จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานโดยอัตโนมัติ (ซึ่งจะช่วยลดขั้นการเตรียมเอกสารเพื่อความสะดวกมากขึ้น) เริ่มใช้จริงวันที่ 16 ต.ค. 2019 เป็นต้นไป
2. เจ้าของธุรกิจสามารถใช้เลขนิติบุคคล 13 หลัก ดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง/ผู้ประกันตน เมื่อมีการจ้างลูกจ้างภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงาน ได้ที่สำนักงานประกันสังคมต่อไป
เอกสารที่ต้องใช้ หนังสือนำส่งแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-02) พร้อมใบแนบแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) ของพนักงาน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน
3. ยื่นข้อมูลเงินสมทบ (ตารางสรุปเงินพนักงานประจำเดือน โดยใส่ข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน, คำนำหน้า, ชื่อ-นามสกุล, ตำแหน่ง, เงินเดือน และเงินสมทบ)
3 ขั้นตอนจัดทำไฟล์ “ข้อมูลเงินสมทบ” ผ่านโปรแกรมจัดการเงินเดือน FlowPayroll
FlowPayroll ช่วยนายจ้างจัดทำไฟล์ข้อมูลอัตราเงินเดือนตามรายชื่อพนักงานได้อย่างรวดเร็ว โดยให้โปรแกรมคำนวณเงินยื่นส่งประกันสังคมได้อัตโนมัติ (หากเป็นกรณีรูปแบบบริษัท เราสามารถนำรายชื่อกรรมการบริษัทออก เนื่องจากกรรมการถือว่าเป็นนายจ้างตามเงื่อนไขของประกันสังคม)
- เข้าใช้งาน FlowPayroll และเลือกเมนู รายการเงินเดือน/ค่าจ้าง
- คลิกปุ่มจุดสามจุด ด้านหลังรายการเงินเดือน
- เลือกเมนู “ดาวน์โหลดไฟล์ยื่นประกันสังคม”
ขั้นตอนการยื่นข้อมูลเงินสมทบประกันสังคมออนไลน์ 10 นาทีเสร็จ!
ในเดือนถัดๆ ไป เจ้าของธุรกิจก็สามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ของประกันสังคมในหัวข้อ “บริการอิเล็กทรอนิกส์” ลดเวลาการเดินทางไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ และจัดเตรียมเอกสารหลายขั้นตอน เพื่อยื่นข้อมูล ดังนี้
1. ข้อมูลเงินสมทบ
2. แจ้งพนักงานเข้าใหม่ (ส.ป.ส. 1-03)
3. แจ้งพนักงานลาออก (ส.ป.ส. 6-09)
ขั้นตอนยื่นข้อมูลเงินสมทบ
- เข้าสู่ระบบและเลือกเมนู “ส่งข้อมูลเงินสมทบ”
- เลือก วิธียื่นข้อมูลการส่งเงินสมทบ
- เลือกสถานประกอบการ
- เลือกวิธีการนำส่ง กรอกเดือน, ปี, อัตราเงินสมทบ
- เลือกอัพโหลดไฟล์ “ข้อมูลเงินสมทบ”
- สรุปข้อมูลเงินสมทบ
- ส่งข้อมูลเงินสมทบสำเร็จ
- จากนั้นประกันสังคมจะส่งข้อมูลยืนยันตามแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) ผ่านทางอีเมลเพื่อดำเนินการชำระเงินต่อไป
ขั้นตอนยื่นเอกสารพนักงานเข้าใหม่
- เข้าสู่ระบบและเลือกเมนู “ทะเบียนผู้ประกันตน”
- คลิกเลือกข้อ 1 กรณีที่พนักงานเข้าใหม่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกับทางประกันสังคม คลิกเลือกข้อ 2 กรณีที่ พนักงานเคยขึ้นทะเบียนแล้ว และเลือกสถานพยาบาลเดิม
- เพิ่มข้อมูลพนักงานใหม่ทั้งหมด กรณีพนักงานใหม่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน
ใส่เลขที่บัตรประชาชน กรณีพนักงานใหม่เลือกสถานพยาบาลเดิม - ตรวจสอบข้อมูล
- ยืนยันบันทึกข้อมูล
อ่านวิธีการจ่ายเงินกองทุนทดแทนต่อที่บทความ มีลูกจ้างแล้ว นายจ้างอย่าลืมทำเอกสารกองทุนเงินทดแทน กท.25 ค ก่อนสิ้นเดือน มี.ค. นี้
เจ้าของธุรกิจต้องจ่ายค่าประกันสังคมเท่าไหร่/เมื่อไหร่
เจ้าของธุรกิจจะต้องจ่ายสมทบประกันสังคมในส่วนที่หักจากพนักงาน และส่วนที่สมทบให้กับพนักงาน ตามแบบ สปส.1-10 (ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) จะต้องส่งในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หลังจากที่ยื่นเอกสารเพื่อนำส่งประกันสังคมในครั้งแรก
วิธีการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ฐานของเงินค่าจ้างพนักงานขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
พนักงานจะถูกหักจากเงินเดือน 5% + เจ้าของธุรกิจจ่ายสมทบ 5% + รัฐบาลร่วมจ่ายสมทบ 2.75%
(แต่ในบางเดือนทางประกันสังคมจะมีการออกมาตรการลดค่าครองชีพให้กับนายจ้าง เพื่อช่วยให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมน้อยลง เช่น ช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. 2565 ปรับลดเหลือ 1% เป็นต้น)
ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงออกเงินสมทบประกันสังคมให้ 1 เท่าของเงินที่พนักงานถูกหักออกจากเงินเดือนในแต่ละเดือนตามมาตรา 33 (แต่ในกรณีที่ต้องนำส่งด้วยตัวเองในสถานะฟรีแลนซ์ก็จะยื่นนำส่งในมาตรา 39 โดยมีเงื่อนไขว่า เคยยื่นมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และว่างงานมาไม่เกิน 6 เดือน)
ยกตัวอย่างวิธีคำนวณ
ให้เงินเดือนพนักงาน 18,000 บาท (คำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ดังนั้นเงินประกันสังคมที่จะต้องยื่นคือ 5% เท่ากับ 15,000 x 5% = 750 บาท และทางนายจ้างจ่ายสมทบเพิ่มอีกหนึ่งเท่า รวมเป็น 750+750 = 1,500 บาท