การเริ่มต้นธุรกิจที่มีการจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย สำหรับบริษัทจำกัดจะต้องมีผู้ร่วมลงทุน หรือผู้ถือหุ้นอย่าง
น้อย 3 คน (กฎหมายใหม่ ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีผลบังใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566) ซึ่งสามารถทำการขอจดทะเบียนบริษัทได้ตามปกติ แต่ที่มักเกิดคำถามอยู่บ่อยครั้ง คือเรื่องของการ จดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ จะแตกต่างจากปกติหรือไม่
ทั้งนี้ รูปแบบของการขอ จดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ของบริษัทจำกัด จะมี 2 รูปแบบ คือ
– ถือหุ้นต่างชาติไม่เกิน 49%
– ถือหุ้นต่างชาติตั้งแต่ 50% ขึ้นไป
และมีเงื่อนไขที่ต่างจากการจดบริษัทสัญชาติไทยอยู่หลายข้อ ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจรูปแบบการขอ จดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ หรือที่มีหุ้นส่วนเป็นชาวต่างชาติกันค่ะ
รูปแบบบริษัทจำกัดที่มีหุ้นเป็นต่างชาติ
ตามหลักการของบริษัทจำกัด หากมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย การจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ จะคล้ายกับกรณีที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติไทย แต่สัดส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
1.ถือหุ้นต่างชาติไม่เกิน 49% คือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ไม่เกิน 49% บริษัทที่จัดตั้งจะถือเป็นบริษัทสัญญาติไทย สามารถประกอบกิจการได้ทุกอย่างตามกฎหมายกำหนด
2.ถือหุ้นต่างชาติตั้งแต่ 50% ขึ้นไป คือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป จะถือเป็นบริษัทต่างด้าว ต้องขอใบประกอบธุรกิจต่างด้าว และมีข้อจำกัดคือ
– ห้ามถือครองที่ดิน
– ห้ามประกอบธุรกิจบางประเภท ได้แก่ประเภทธุรกิจที่กำหนดอยู่ในบัญชีหนึ่ง ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว) เช่น กิจการวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ การทำนา ทำสวน จะสงวนไว้สำหรับคนไทย เป็นต้น หรือต้องได้รับอนุญาตก่อนสำหรับการประกอบธุรกิจที่อยู่ในบัญชีสอง หรือบัญชีสามท้าย พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
ต่างชาติถือหุ้น 100% ได้มั้ย
มีธุรกิจบางอย่างที่สามารถให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% อย่างเช่นโรงงานผลิตทั้งที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและที่ส่งออก โดยต่างชาติต้องมีทุนจดทะเบียนขันต่ำไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท หลังจากจดทะเบียนแล้ว กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจจะต้องเป็นคนไปที่ธนาคารด้วยตัวเอง เพื่อเปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทย และนำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารเท่ากับจำนวนทุนจดทะเบียนที่ชำระ
อย่างเช่นทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และชำระทุน 25% กรรมการจะต้องเปิดบัญชีธนาคารในนามบุคคล และฝากเงินเข้าบัญชีจำนวน 2,500,000 บาท พร้อมกับขอหนังสือรับรองเงินฝากจากธนาคาร เพื่อนำไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 15 วัน นับจากวันที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
ส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่โรงงานผลิต แต่ได้สิทธิจากการส่งเสริมการลงทุน BOI หรือว่ามาด้วยใบอนุญาตต่างๆ ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% โดยจะต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน หรือขอ Foreign Business License (FBL) ผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากองต่างด้าว
ทั้งนี้ หากธุรกิจที่คนต่างชาติต้องการทำเป็นธุรกิจในบัญชีหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะถือเป็นธุรกิจที่ตกอยู่ในบัญชีต้องห้าม ไม่อนุญาตให้ต่างชาติทำ จึงไม่สามารถขอ FBL ได้ ส่วนถ้าธุรกิจอยู่ในบัญชีสองและสาม จะสามารถยื่นขอ FBL ได้ ซึ่งจะได้รับอนุมัติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการผู้พิจารณาใบประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยใช้เวลาในการขอและพิจารณา FBL ประมาณ 4-6 เดือนเช่นกัน
เงื่อนไขในการเตรียมเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ
เนื่องจากสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ผู้ถือหุ้นสำหรับคนไทยและต่างชาติที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องนำมาเข้าเงื่อนไขสำหรับเตรียมเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ดังนี้
1.ผู้ถือหุ้นต่างชาติตั้งแต่ 1 หุ้นขึ้นไป ทางฝั่งผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคนจะต้องแสดงบัญชีเงินฝาก โดยให้ทางธนาคารทำหนังสือรับรองเงินฝากของผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคน โดยยอดเงินฝากห้ามน้อยกว่าเงินลงทุนในกิจการตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้น เพื่อไว้ใช้แสดงที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตอนไปขอจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ทุนจดทะเบียนบริษัท 1,000,000 บาท
*คนต่างชาติถือหุ้น 49% = เงินลงทุน 490,000 บาท
*คนไทยคนที่ 1 ถือหุ้น 30% = 300,000 บาท คนไทยคนที่ 2 ถือหุ้น 21% = 210,000 บาท ดังนั้น ผู้ถือหุ้นคนไทยต้องแสดงยอดเงินฝากทั้ง 2 จำนวนดังตัวอย่างว่ามีอยู่จริง
2.กรณีต่างชาติเป็น “กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม” คือสามารถทำการแทนบริษัทในการลงนามเอกสารต่างๆ ถึงแม้จะไม่ได้มีสัดส่วนในหุ้นของบริษัทเลยก็ได้ ทางกฎหมายบังคับให้ผู้ถือหุ้นคนไทย ต้องแสดงบัญชีเงินฝากให้ตรงกับจำนวนที่นำมาลงทุนหุ้นคือตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่ ให้สอดคล้องกับเงินลงทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว
ในทางกลับกันหากต่างชาติเป็น “กรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนาม” ผู้ถือหุ้นไทยไม่จำเป็นต้องแสดงบัญชีเงินฝาก แต่ถ้าหากต่างชาติเป็นทั้งกรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนามและเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ผู้ถือหุ้นคนไทยก็ต้องแสดงเงินฝากหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย
โดยใช้หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออกให้ เพื่อแสดงยอดเงินฝากธนาคารของผู้ถือหุ้น ซึ่งหนังสือรับรองเงินฝากของผู้ถือหุ้น สามารถแสดงเงินฝากมากกว่าเงินลงทุนในกิจการตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่ได้ แต่ห้ามน้อยกว่า
ทั้งนี้ ถ้าผู้ถือหุ้นคนไทยที่ต้องแสดงบัญชีเงินฝากต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ แต่ไม่มีเงินอยู่จริง สามารถแก้ปัญหาได้ดังนี้
– เลือกจดทะเบียนบริษัทด้วยทุนจดทะเบียนที่ไม่สูง หรือขอชำระขั้นต่ำที่ 25%
– จดทะเบียนครั้งแรกเป็นคนไทยหมด 100% หลังจากจดทะเบียนเสร็จ ให้ทำเรื่องเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้น ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้น แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือ จะทำให้เสียค่าบริการเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจ่ายค่าบริการจดทะเบียนแล้ว ยังต้องจ่ายค่าทำเรื่องเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นอีกด้วย (ข้อมูลจาก www.kknaccounting.com )
3.สำหรับผู้ถือหุ้นต่างชาติที่เข้ามาเป็นกรรมการ ทั้งแบบเป็นกรรมการทั่วไปและแบบกรรมการผู้มีอำนาจ หรือเข้ามาเป็นพนักงานภายในบริษัท จะต้องมี WORK PERMIT รวมถึงต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อชาวต่างชาติหนึ่งคน โดยชำระมูลค่าหุ้นเต็ม โดยจะต้องมีสัดส่วนคนไทยทำงานด้วย 4 คน ต่อผู้ถือหุ้นที่เป็นกรรมการหรือเข้ามาทำงานให้บริษัท 1 คน ตลอดจนบริษัทต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ไม่ได้ต้องการ WORK PERMIT เพื่อที่จะสามารถทำงานรับเงินเดือนในประเทศไทย และไม่ต้องออกนอกประเทศบ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องจดทุนจดทะเบียนรวมถึงจ่ายชำระแล้วเต็มจำนวน 2 ล้าน
เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอดำเนินการธุรกิจ กรณีจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ถือหุ้น 50% ขึ้นไป (บริษัทต่างด้าว)
ก่อนที่ผู้ประกอบการบริษัทจำกัด จะดำเนินการยื่นตามขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาตินั้น จำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่ใช้ในการขอจดบริษัทต่างด้าวดังนี้
1.แบบคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต.2 (3 หน้า)
2.ชื่อบริษัท
3.สำเนาทะเบียนบ้าน
4.หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ และสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้าน ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท (ในกรณีเจ้าขอบ้านนิติบุคคลต้องแนบหนังสือรับรองบริษัท และสำเนาบัตรประชาชนกรรมการ ผู้มีอำนาจผูกพันในเอกสารของบริษัท)
5.หนังสือแจ้งรายละเอียดของประเภทธุรกิจที่ขอรับใบอนุญาต
6.หนังสือแจ้งจำนวนทุน จำนวนหุ้น และมูลค่าของหุ้นของบริษัทที่กำหนดไว้ สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว ประเภทหรือชนิดของหุ้นที่คนต่างด้าวถือ
7.สำเนาบัตรประชาชนคนไทย หรือสำเนาหนังสือเดินทางต่างด้าว รายละเอียดที่อยู่และจำนวนหุ้น ซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อซื้อไว้ของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัท (อย่างน้อย 2 คน) และลายเซ็นของผู้เริ่มก่อตั้งทุกคน
8.เอกสารแสดงเงินทุนครบตามจำนวนทุนจดทะเบียนภายใน 12 วัน (เฉพาะธุรกิจกิจใหม่ที่จดทะเบียนเกินกว่า 5 ล้านบาท)
9.หลักฐานแสดงที่มาของเงินทุนที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่ชำระแล้วของผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคน (เฉพาะธุรกิจใหม่ที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ลงทุนในบริษัทจำกัด หรือต่างชาติที่เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท)
10.ใบรับรองบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ถือหุ้นคนไทย ยอดไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินที่ได้ลงทุน (เฉพาะธุรกิจใหม่ที่คนไทยและต่างชาติลงทุนร่วมกัน)
11.หลักฐานหรือเอกสารอื่นๆ (ถ้ามี)
โดยสามารถกดเพิ่มเพื่อน เพื่อดาวน์โหลดเอกสารที่ต้องเตรียมเมื่อขอจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ถือหุ้น 50% ขึ้นไป (บริษัทต่างด้าว) ได้ฟรี!
การจัดตั้งบริษัทก่อนขอจดทะเบียนขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
เนื่องจากการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สามารถยื่นขอได้ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล หากเราเลือกยื่นขอในรูปแบบบริษัท ระหว่างที่เตรียมเอกสารต่างๆ ในการขออนุญาตประธุรกิจของคนต่างด้าว ผู้ประกอบการต้องทำการจัดตั้งบริษัท โดยสามารถดำเนินการจองชื่อบริษัทก่อนได้ หลังจากนั้นจึงทำตามขั้นตอนการยื่นขออยุญาตประกอบธุรกิจต่อไป โดยเริ่มจาก…
1.ตรวจสอบและจองชื่อบริษัท ซึ่งการจองชื่อนิติบุคคลจะเป็นผู้ถือหุ้น หุ้นส่วนผู้จัดการในกรณีห้างหุ้นส่วน หรือกรรมการในกรณีบริษัทเป็นผู้ยื่นขอจองชื่อก็ได้ แต่บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ลงนามในใบอนุมัติจองชื่อดังกล่าว
และชื่อที่จะจัดตั้งต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยสามารถจองได้ 3 ชื่อ ผ่านการจองได้ 2 ทางคือ จองผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตหรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือจองผ่านอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
หลังจากจองชื่อได้แล้ว จะต้องยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ภายใน 30 วัน หากยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิช้ากว่านั้นต้องทำการจองชื่อใหม่ ซึ่งสามารถใช้ชื่อเดิมในการจองได้ ถ้าหากยังไม่มีบริษัทอื่นๆ นำไปใช้ก่อน
2.บุคคลซึ่งเป็นผู้ก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (กฎหมายใหม่ ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีผลบังใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566) เข้าชื่อกันจัดทำคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และเอกสารประกอบแล้วนำไปจดทะเบียน
3.เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้ก่อการต้องจัดให้หุ้นของบริษัทที่คิดจะจัดตั้งขึ้นนั้น มีผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นจนครบ
4.ดำเนินการประชุมจัดตั้งบริษัท โดยต้องส่งคำบอกกล่าวนัดประชุมให้ผู้จองหุ้นทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันประชุม
5.เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัทและแต่งตั้งกรรมการบริษัทแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องมอบหมายกิจการให้กรรมการบริษัทรับไปดำเนินการต่อไป
6.กรรมการบริษัทจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้จองหุ้น ชำระค่าหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น
7.เมื่อได้รับเงินค่าหุ้นแล้ว กรรมการต้องทำคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัท และนำเอกสารประกอบไปจดทะเบียนเป็นบริษัทภายใน 3 เดือน หลังจากการประชุมตั้งบริษัท ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือทางออนไลน์
ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติทางออนไลน์
หลังจากที่กรรมการได้รับเงินค่าหุ้นแล้ว จะต้องจัดทำคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัท และนำเอกสารประกอบ ไปจดทะเบียนเป็นบริษัทภายใน 3 เดือน หลังจากการประชุมตั้งบริษัท ซึ่งนอกจากจะ walk in ไปขอจดบริษัทที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังสามารถขอจดบริษัทแบบออนไลน์ได้ ถือว่าเป็นช่องทางที่สะดวกและรวดเร็ว ได้ลดค่าธรรมเนียม 50% อีกด้วย
โดยเข้าไปกรอกข้อมูลจดบริษัทแบบออนไลน์ได้ที่ ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีขั้นตอนการจดทะเบียน ดังนี้
1.ลงทะเบียนและยืนยันตัวตน จากนั้นจะได้รับ User Name และรหัสผ่านที่จะส่งมาให้ผ่านทางอีเมล เพื่อใช้สำหรับเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
2.เมื่อได้ดำเนินการยืนยันตัวตนและเปิดใช้งานรหัสเรียบร้อยแล้ว ให้นำข้อมูลและเอกสารที่เตรียมไว้ กรอกลงในระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration)
3.หลังจากกรอกข้อมูลเสร็จแล้ว ทางนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบข้อมูลและเอกสาร
4.หากเอกสารผ่านการตรวจสอบเรียบร้อย ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะส่งอีเมลแนบข้อมูลการขอจดบริษัท พร้อมด้วยรหัสผ่านไปให้กรรมการและผู้ถือหุ้นทุกคน เพื่อใช้ในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท
5.ชำระค่าธรรมเนียมในการจดบริษัท 2,750 บาท ซึ่งลดราคาลง 50% จากราคาเดิม 5,500 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 31 ธันวาคม 2566
จากนั้นให้รอนายทะเบียนรับจดทะเบียน กระทั่งได้รับเอกสารหลักฐานการจดบริษัทแล้ว ถือเป็นอันเสร็จเรียบร้อย และหลังจากจดทะเบียนบริษัทแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องเจอกับอะไรบ้างนั้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอ…หลังจดบริษัท”
สรุป
จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขสำหรับการขอจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ จะแตกต่างจากการจดบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นทั้งหมดเป็นคนไทย รวมถึงต้องมีการพิจารณาการขออนุญาตประกอบธุรกิจสำหรับบริษัทต่างด้าว ที่ต้องพิจารณาในหลายๆ จุด รวมถึงการเตรียมเอกสารสำหรับการขอจดทะเบียนบริษัท จะมีการดำเนินการค่อนข้างละเอียด ดังนั้น สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทได้ที่ https://inflowaccount.co.th/company-registration-service/ หรือเพื่อความสะดวกและรวดเร็วควรใช้บริการสำนักงานบัญชีก็ได้เช่นกัน เพื่อช่วยในเรื่องของความถูกต้องในการจัดทำ การเตรียมเอกสาร และการให้ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างถูกต้องมั่นใจมากยิ่งขึ้น