การจดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติ

Registering a Company in Thailand

สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจเริ่มธุรกิจในประเทศไทย การเข้าใจข้อมูลและกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจดทะเบียนเพื่อเริ่มธุรกิจที่อาจดูซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่หากมีการเตรียมพร้อมที่ดี และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การเปิดบริษัทสำหรับชาวต่างชาติก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป

เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศไทยทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาสนใจลงทุนในไทยเพื่อมองหาตลาดใหม่ๆ ประเทศไทยมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ แรงงานที่มีทักษะสูง ฐานความต้องการของผู้บริโภคที่ค่อนข้างกว้าง และมีนโยบายรัฐที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้นการประกอบธุรกิจในไทยจึงมีทั้งข้อดี และสร้างโอกาสมากมายให้แก่นักลงทุน

เพื่อช่วยให้ชาวต่างชาติที่สนใจสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น เราได้รวบรวมขั้นตอนและข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์เอาไว้ด้านล่างนี้

1. เข้าใจกฎหมายควบคุมธุรกิจต่างชาติ และบริษัทสัญชาติไทย

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นประมวลกฎหมายหลักที่ควบคุมธุรกิจที่ดำเนินโดยชาวต่างชาติในไทย โดยมีบางประเภทธุรกิจที่ชาวต่างชาติไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้พ.ร.บ.ดังกล่าว

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว:

พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวระบุรายการประเภทธุรกิจที่สงวนไว้ให้แก่บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงของประเทศ และบางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบริการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะช่วยให้ชาวต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจบางประเภทที่โดยปกติแล้วเป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถจดทะเบียนธุรกิจที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมด หรือมากกว่า 49% ได้ ทั้งนี้ กระบวนการยื่นคำร้องและพิจารณาใช้เวลานาน และต้องเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก

การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการการสนับสนุนพิเศษจากทางรัฐบาลคือการยื่นขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หากบริษัทต่างชาติใดมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่บีโอไอระบุไว้ จะสามารถยื่นคำร้องนี้เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของบริษัท 100% การยกเว้นภาษีบางประเภท และการสนับสนุนด้านใบอนุญาตการทำงาน รวมถึงวีซ่าสำหรับผู้เข้ามาทำงานในไทย เป็นต้น ทั้งนี้ บีโอไอมีมาตรฐานการคัดเลือกที่ค่อนข้างเข้มงวด และการพิจารณาอาจใช้เวลานาน นอกจากนี้บริษัทที่ได้รับเลือกแล้วจะต้องยื่นส่งรายงานแสดงสถานะการประกอบธุรกิจให้กับบีโอไออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้รับการส่งเสริมต่อไป

แล้วอะไรคือการประกอบธุรกิจภายใต้บริษัทสัญชาติไทย?

เนื่องจากการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือการขอรับบัตรส่งเสริมจากทางบีโอไอมีความซับซ้อน ทางเลือกที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เลือกที่จะดำเนินการคือการจดทะเบียนธุรกิจภายใต้บริษัทสัญชาติไทย โดยรูปแบบการจดทะเบียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ บริษัทจำกัด ถึงแม้ว่าการดำเนินธุรกิจสัญชาติไทยจะหมายความว่าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ต้องเป็นคนไทย (สัดส่วนอย่างน้อย 51%) แต่ก็มีข้อดีหลายประการ และมีกระบวนการที่ซับซ้อนน้อยกว่ามาก

นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติไทยจะไม่ถูกจำกัดในเรื่องของประเภทธุรกิจที่ห้ามดำเนินการโดยชาวต่างชาติ แม้จะมีชาวต่างชาติถือหุ้นอยู่ในบริษัทด้วยก็ตาม เนื่องจากบริษัทสัญชาติไทยไม่ได้ถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

นอมินีชาวไทย และระเบียบการควบคุม

ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งอาจจะคุ้นหูกับคำว่า ‘ผู้ถือหุ้นนอมินีคนไทย’ กันมาบ้าง แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับคำนี้ การเข้าใจความหมายและมุมมองทางกฎหมายของคำว่านอมินีจะเป็นประโยชน์กับคุณ

การถือหุ้นสำหรับนอมินี จะเป็นการถือหุ้นแค่ในนามเท่านั้น หมายความว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือความสำคัญใดๆต่อการประกอบธุรกิจของบริษัท หากอ้างอิงจากพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว นอมินีชาวไทยคือบุคคลสัญชาติไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้น เพียงแต่เป็นการถือหุ้นแทนชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาการใช้นอมินีชาวไทยช่วยให้ชาวต่างชาติหลายคนสามารถเป็นเจ้าของบริษัทและประกอบธุรกิจที่จัดตั้งเป็น บริษัทจำกัด สัญชาติไทยโดยมีอำนาจในการบริหารเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดภายใต้กฎหมายไทย

2. เลือกรูปแบบการจัดตั้งบริษัทที่ตรงกับความต้องการของคุณ

การจัดตั้งบริษัทในไทยมีหลายรูปแบบ และก่อนที่ชาวต่างชาติจะเริ่มดำเนินการจดทะเบียนบริษัท จะต้องเลือกรูปแบบการจัดตั้งเสียก่อน ด้านล่างนี้จะอธิบายการจัดตั้งบริษัทในแต่ละรูปแบบ

บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด มี 2 ประเภท ประกอบด้วยบริษัทเอกชนจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งบริษัทเอกชนจำกัดเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ ในการจัดตั้งบริษัทเอกชนจำกัดจะต้องมีผู้ถือหุ้น และผู้ก่อการอย่างน้อย 3 คน โดยภาระรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นจะถูกจำกัดตามมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบตามที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น และการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบนี้ ชาวต่างชาติจะเป็นเจ้าของหุ้นได้เพียงไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยหุ้นที่เหลือจะต้องถือโดยบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น ซึ่งแต่ละหุ้นจะต้องมีมูลค่าเท่านั้น และจะต้องมีการชำระค่าหุ้น 25% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดเป็นอย่างต่ำ

ความแตกต่างระหว่างบริษัทเอกชนจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัดคือ บริษัทมหาชนจำกัดสามารถขายหุ้นของบริษัทแก่สาธารณะชนได้ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่การจัดตั้งบริษัทมหาชนมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก และมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด

กิจการเจ้าของคนเดียว

ธุรกิจที่จัดตั้งในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว จะต้องมีเจ้าของและผู้ประกอบการเพียงบุคคลเดียวเท่านั้น แม้ว่ากระบวนการจัดตั้งในรูปแบบนี้จะไม่ค่อยยุ่งยากมากนัก แต่ภาระผูกพันและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการไม่ได้มีการจำกัดเอาไว้ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบต่อภาระและหนี้สินที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว หากเลือกจัดตั้งกิจการในรูปแบบนี้ เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นในระดับหนึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่บุคคลเพียงคนเดียวจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่ใช่บุคคลทุกสัญชาติที่จะสามารถจัดตั้งกิจการเจ้าของคนเดียวได้ และบางประเภทธุรกิจก็ไม่สามารถดำเนินการภายใต้รูปแบบกิจการนี้ได้

ห้างหุ้นส่วน

ตามกฎหมายประเทศไทย การจัดตั้งกิจการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน (ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) และห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งความแตกต่างระหว่างห้างหุ้นส่วนแต่ละประเภทคือขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ

  • ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน คือห้างหุ้นส่วนที่เจ้าของกิจการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการทั้งหมด แม้ว่าการจัดตั้งกิจการในรูปแบบนี้จะไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายเนื่องจากไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่หุ้นส่วนทั้งหมดจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อหนี้สินของห้างหุ้นส่วนที่จัดตั้งขึ้นมา
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน (ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) ถือเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ที่เจ้าของกิจการจะต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ภาระผูกพันของนิติบุคคลจะแยกออกจากเจ้าของกิจการ และนิติบุคคลนั้นจะมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบเฉกเช่นเดียวกับบริษัทที่จดทะเบียน
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือเป็นนิติบุคคล และจะต้องมีการจดทะเบียนกับหน่วยงานที่มีอำนาจ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหุ้นส่วน 2 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน
    • หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด คือ หุ้นส่วนหนึ่งคนหรือมากกว่ามีภาระผูกพันที่จำกัดไว้ตามจำนวนที่ได้ลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น  หุ้นส่วนประเภทนี้ไม่มีสิทธิในการแทรกแซงการบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วน
    • หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด คือ หุ้นส่วนหนึ่งคนหรือมากกว่ามีภาระผูกพันที่ไม่จำกัดตามจำนวนที่ลงทุน และจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อหนี้สินของห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนประเภทนี้จะมีอำนาจในการบริหารกิจการ

เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงมีหน้าที่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับบริษัทจำกัด แต่จะไม่ได้รับประโยชน์อื่นๆเหมือนกับบริษัทจำกัด ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติจึงไม่นิยมจัดตั้งกิจการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนเท่าไรนัก

สำนักงานผู้แทน

สำนักงานผู้แทนถือเป็นบริษัทต่างชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแก่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ หรือบริษัทในเครือเดียวกันในประเทศอื่นๆ การจัดตั้งประเภทนี้ไม่ได้แพร่หลายในหมู่นักลงทุนต่างชาติมากเท่าไหร่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการหลายอย่างที่สำนักงานผู้แทนไม่สามารถทำได้ โดยจุดประสงค์หลักของสำนักงานผู้แทนคือการแสวงหาและวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดให้กับบริษัทแม่ และไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจทางการค้าใดๆ

สำนักงานสาขา

สำนักงานสาขาถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่ทำให้สำนักงานสาขาต่างจากสำนักงานผู้แทนคือ สำนักงานสาขาสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ เช่น การซื้อมาขายไป และการให้บริการอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าการบริหารและดำเนินงานของสำนักงานสาขาจะขึ้นอยู่กับสำนักงานใหญ่ และสำนักงานใหญ่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อหนี้สินต่างๆที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของสำนักงานสาขาด้วย

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาขาต้องได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างถูกต้องภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ดังนั้น หากสำนักงานสาขาต้องการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในรายการธุรกิจต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติ สำนักงานสาขานั้นจะต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วย

3. จดทะเบียนธุรกิจ

เมื่อชาวต่างชาติตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกจัดตั้งกิจการในรูปแบบใด ขั้นตอนต่อไปคือการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในกรณีของกิจการเจ้าของคนเดียว หรือห้างหุ้นส่วนประเภทต่างๆนั้น มีกระบวนการจัดตั้งที่ไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ เมื่อเทียบการจดทะเบียนบริษัทเอกชนจำกัด ซึ่งชาวต่างชาติอาจต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

ด้านล่างนี้เป็นขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทจำกัด ที่ชาวต่างชาติควรศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจดทะเบียน

i.) การจองชื่อนิติบุคคล

การจองชื่อนิติบุคคลสามารถทำได้ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือยื่นแบบฟอร์มจองชื่อด้วยตนเองที่สำนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ผู้เริ่มก่อการบริษัทสามารถจองชื่อได้มากที่สุด 3 ชื่อ ซึ่งจะต้องเป็นชื่อที่ไม่เหมือนกับบริษัทอื่นๆ จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเลือกชื่อที่เหมาะสมที่สุดตามกฎระเบียบเพื่ออนุมัติ โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-3 วันทำการ และชื่อที่ได้รับอนุมัติจะสามารถนำไปยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับอนุมัติ

ii.) การจัดเตรียมเอกสาร และจัดให้มีการชำระค่าหุ้น

เอกสาร และข้อมูลสำคัญที่ต้องเตรียมมีดังนี้:

  • หนังสือบริคณห์สนธิ ประกอบด้วย
    • ชื่อบริษัทที่ได้รับอนุมัติ
    • สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่
    • วัตถุประสงค์ของบริษัท
    • ทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้น
    • ชื่อ ที่อยู่ อายุ อาชีพ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คน
    • ชื่อ ที่อยู่ และอายุของพยานทั้ง 2 คน
  • ข้อบังคับบริษัท
  • แบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนบริษัทที่เซ็นโดยกรรมการผู้มีอำนาจ
  • รายชื่อผู้ถือหุ้น และใบหุ้นที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมด
  • สำเนารายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท
  • แผนที่ของสำนักงานใหญ่
  • สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการและผู้ก่อการทุกคน

ก่อนการยื่นขอจดทะเบียนบริษัท จะต้องมีการเรียกชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของทุนจดทะเบียน และในกรณีที่บริษัทต้องการขอใบอนุญาตทำงานให้กับพนักงานต่างชาติในอนาคต จะต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 2 ล้านบาทต่อพนักงานต่างชาติหนึ่งคน

4. จดทะเบียนภาษี และใบอนุญาตอื่นๆ

เมื่อชาวต่างชาติได้จัดตั้งบริษัทสำเร็จแล้ว ยังคงมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่ควรพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินกิจการ ในฐานะนิติบุคคล บริษัทจะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งบริษัทสามารถใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทได้ แต่ในกรณีของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น บริษัทจำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

ในส่วนของใบอนุญาตอื่นๆที่อาจต้องใช้ จะขึ้นอยู่กับประเภทกิจการของบริษัท เช่น หากกิจการของบริษัทมีการนำเข้าสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในประเทศไทย บริษัทนั้นจะต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า/ส่งออกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่กำลังพิจารณาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย มีรายละเอียดมากมายที่จะต้องทำความเข้าใจ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ภูมิทัศน์ทางธุรกิจ และเงื่อนไขด้านกฎหมายต่างๆ ดังนั้น การได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จะทำให้การจัดตั้งบริษัทของชาวต่างชาติในไทยไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป